“รวมพลังไทย หยุดภัยยาเสพติด” 26 มิ.ย.วันต่อต้านยาเสพติดโลกทันโรค สมองติดยา !! อาการทางจิตที่รักษาได้ (เดลินิวส์)
จากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดการทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่ตามมาสำคัญที่สุดย่อมทำให้สภาวะทางจิตอารมณ์ของผู้คน ผันผวนปรวนแปรไป ความเครียดที่ก่อเกิดและประดังเข้ามา ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะหันเข้าหาสิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความสุข ความว่างเปล่า ไร้ซึ่งความทุกข์ แน่นอนอย่างยิ่ง "ยาเสพติด" คือ ประตูทางออกทางหนึ่งที่คนเหล่านั้นปรารถนา และเมื่อเกิดการทดลองไขว่คว้าหามาเสพแล้ว ก็ต้องไขว่คว้าหามาอีก จนนำไปสู่ความเคยชินกระทั่งเป็นอาการป่วยทางจิต ที่เรียกว่า "สมองติดยา" ในที่สุด
ภาวะ "สมองติดยา" คือ ช่วงเวลาที่สมองในส่วนที่คิดด้วยสติปัญญา คิดด้วยความมีเหตุผล (Prefrontal Cortex) เกิดความสมดุลกับสมองส่วนอยาก (Brain Reward Pathway) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ และความอยาก ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นจนนำพาไปสู่ความอยากยา จำเป็นต้องหาเพื่อนำมาเสพ เมื่อเสพแล้วจะมีความสุข ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิตอย่างรุนแรง เพราะสารเสพติดจะไปกระตุ้นสมองแบบเรื้อรัง ทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เนื่องจากสมองส่วนอยากจะดื้อต่อสิ่งกระตุ้นเร้าที่ให้ความสุขใจตามธรรมชาติ ทำให้ผู้เสพติดยาเกิดความเบื่อหน่าย แต่สมองส่วนอยากนี้จะไวต่อสารเสพติด ทำให้เกิดพฤติกรรมหมกมุ่นต่อการเสพยา ผลที่ตามมา คือ สมองส่วนคิดแย่ลง ทำอะไรไปตามความอยาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึมเศร้า แปรปรวน เซลล์สมองฝ่อ สติปัญญาแย่ลง กลายเป็นโรคสมองเสื่อมในที่สุด
พ.อ.นพ.พิชัย แสงชาญชัย จิตแพทย์ กองจิตเวชกรรมประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ภาวะสมองติดยานี้ มีระยะเวลาในการป่วยของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับชนิดของสารเสพติดแต่ละตัว ไม่สามารถระบุเจาะจงได้ อีกทั้ง มีปัจจัยแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย อาทิ ตัวบุคคล พันธุกรรม แรงกดดันทางสังคม ตลอดจนค่านิยมที่ผิดๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นเร้าจากภายนอก ผสมผสานกับแรงกระตุ้นเร้าจากภายใน ซึ่งแรงกระตุ้นเร้าจากภายนอก ได้แก่ อุปกรณ์การเสพ สถานที่เสพ เพื่อนที่เสพ แหล่งขาย ผู้ค้า ผู้ซื้อยา สถานบันเทิง วันที่เคยเสพ เงิน และโทรศัพท์มือถือ ส่วนแรงกระตุ้นเร้าภายในคือ อารมณ์เป็นทุกข์และสุข รวมถึงอารมณ์ทางเพศ และที่สำคัญ บางคนมีความเข้าใจในเรื่องผิดๆ โดยมีการนำยาเสพติดมาใช้ในการลดความอ้วน
ด้านการรักษาผู้ป่วยสมองติดยานั้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับสารแต่ละชนิดที่ผู้ป่วยเสพ ส่วนระยะยาวนั้นมีการผสานจิตสังคมบำบัดที่มีประสิทธิภาพเพิ่มเข้าไป เนื่องจากโรคติดยาเป็นโรคเรื้อรัง จึงจำเป็นต้องสร้างทัศนคติที่ดี ปรับฐานความผูกพันทางพื้นฐานครอบครัวและสังคมเสียใหม่